วิศวกรอุตสาหการ


มหาวิทยาลัยมหิดลได้วางวิชาพื้นฐานสำหรับภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ โดยมุ่งเน้นการศึกษาหรือพัฒนาองค์ความรู้ทางวิศวกรรมในด้านต่างๆ ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ อธิบาย ออกแบบ พัฒนา วางแผน ควบคุม การวิจัยดำเนินงาน จัดการและประเมินผลระบบโดยรวมซึ่งครอบคลุมปัจจัยทุกๆด้านทั้ง บุคคล สารสนเทศ อุปกรณ์ พลังงาน วัสดุ รวมไปถึง การเงิน โดยเน้นงานทางด้านการประยุกต์ที่เกี่ยวกับการวิจัยดำเนินงาน ทรัพยากรต่างๆ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินงานและทรัพยากร เพื่อบรรลุจุดประสงค์การดำเนินงานตามทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการและวิธีการทางด้านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ทางวิศวกรรมรวมถึงคณิตศาสตร์ สถิติ ฟิสิกส์ การตลาด การบริหารการจัดการ สารสนเทศ เศรษฐศาสตร์ และ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา เป็นต้น

การเตรียมตัวสู่การประกอบอาชีพ

การจ้างงานของอาชีพวิศวกร ผู้ว่าจ้างจะคัดเลือกผู้สมัครโดยใช้วุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ตรงกับสายงานเป็นหลัก เพราะฉะนั้นนักศึกษาควรยื่นสมัครงานโดยเน้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรและวิทยานิพนธ์ของตน โดยทั่วไปแล้วบริษัทหรือองค์กรต่างๆที่ทำงานด้านวิศวกรรมจะมี การเปิดรับสมัครตลอดทั้งปี นักศึกษาสามารถเลือกใช้บริการ Mahidol University Careers Service ผ่านเมนู Jobs Search เพื่อค้นหาตำแหน่งงานที่ใช่ หรือเพื่อศึกษารูปแบบของการรับสมัครงานได้ หากนักศึกษาต้องการตำแหน่งงานเฉพาะทางอาจค้นหาผ่านเว็บไซต์อื่นๆ หรือสมัครโดยตรงกับบริษัทหรือองค์กรที่ท่านสนใจผ่านการส่ง Résumé สมัครงานกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทหรือองค์กรนั้นๆ 
เทคนิคการจัดทำ Résumé สมัครงานวิศวกร
กำหนดหัวข้อของ Résumé ให้ชัดเจน เช่น ต้องการฝึกงานหรือต้องการสมัครงานในตำแหน่งใด
ศึกษาคำบรรยายลักษณะงาน (Job Description) ของตำแหน่งที่ต้องการ แล้วจึงเขียนอธิบายคุณสมบัติของตนเองว่าทำไมถึงเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ โดยต้องแสดงถึงความสอดคล้องกับวุฒิการศึกษาหรือวิทยานิพนธ์ และทักษะต่างๆที่ตนเองมี
ใส่ข้อมูลการติดต่อเพียงที่เดียว รวมถึงเลือกใช้ Email อย่างเป็นทางการ เช่น @alumni.mahidol.ac.th หรือ @student.mahidol.ac.th เป็นต้น
ข้อมูลการศึกษาให้เริ่มใส่ตั้งแต่วุฒิปริญญาตรี เป็นต้นไป พร้อมระบุคะแนนเฉลี่ยสะสม และเน้นรายวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตำแหน่งงาน
ข้อมูลทักษะด้านภาษาต้องระบุระดับความสามารถหรือคะแนนอ้างอิง
แสดงข้อมูลใบรับรองหรือใบประกาศต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานให้ชัดเจน
ระบุทักษะด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น มีทักษะการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาใดบ้าง มีทักษะการใช้งานซอฟต์แวร์ด้านวิศวกรรมตัวไหนบ้าง มีทักษะการทำแลปเฉพาะทางหรือการทำ Workshop ด้านวิศวกรรม
ระบุประสบการณ์การทำงานให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงาน การทำโปรเจค การทำวิจัย การทำแลป เป็นต้น โดยเริ่มจากใหม่ล่าสุดย้อนกลับไปเก่า หากเป็นไปได้ให้ระบุความสำเร็จที่ได้จากประสบการณ์นั้นๆด้วย
หมายเหตุ สำหรับหลักสูตร วิศวกรรมอุตสาหการ ในการประกอบอาชีพจำเป็นที่จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการรับรองหลักสูตรจากทางสภาวิศวกรเรียบร้อยแล้ว นักศึกษาสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ในระดับภาคีวิศวกร ได้โดยตรงที่สภาวิศวกร มีค่าใช้จ่าย 3,000 บาท แบ่งเป็น ค่าจดทะเบียนสมาชิกสภาวิศวกรและค่าบำรุง จำนวน 1,500 บาท + ค่าสมัครทดสอบความรู้ 1,500 บาท (https://www.coe.or.th/http_public/main/choice_1/pakey/step_pakey.php)

ทักษะและประสบการณ์

ทักษะ ไม่ว่านักศึกษาจะจบการศึกษาจากหลักสูตรใด ทางผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ต่างมองหาผู้ร่วมงานที่มีทักษะโดยภาพรวมดังนี้ 
– ความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น
– ความสามารถในการทำงานเป็นทีม
– ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน
– ความกระฉับกระเฉงและความกระตือรือร้นในการทำงาน
– ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ไข
– ความสามารถในการวางแผนงานและการบริหารงานให้ตรงตามแผน
– ความสามารถในการบริหารทรัพยากรและเวลา
– ความเข้าใจถึงวิธีการทำให้องค์กรของตนประสบความสำเร็จ
ประสบการณ์การทำงาน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากนักศึกษาต้องการที่จะได้เป็นตัวเลือกแรกๆของผู้ว่าจ้างงาน การหาประสบการณ์การทำงาน โดยการหาสถานที่ฝึกงานที่เหมาะสมนั้น เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาทักษะต่างๆที่จำเป็น ฉะนั้นนักศึกษาควรเลือกฝึกงานในบริษัทหรือองค์กรที่มีลักษณะของงานตรงกับวุฒิการศึกษาหรือวิทยานิพนธ์ของตน เพื่อให้ตัวนักศึกษาเองเกิดการตระหนักรู้ถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ซึ่งความรู้ที่ได้มานี้จะมีส่วนช่วยในการพิจารณารับเข้าทำงานของบริษัทในภายหลัง โดยทั่วไปทักษะสำคัญที่ควรพัฒนาและแสดงออกตอนฝึกงานคือ ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหา หากสามารถแสดงทักษะทั้งสามข้อได้ โดยส่วนใหญ่บริษัทจะทาบทามไว้ตั้งแต่ช่วงเวลาฝึกงาน

การเรียนต่อ

ส่วนการศึกษาในระดับบัณทิตศึกษานั้น จะมีความจำเป็นอย่างมากในบางสายงานที่ต้องลงลึกในเรื่องเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นต้น

แหล่งข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานภายนอก


บทเรียนแนะนำจาก MUx


บทเรียนแนะนำจาก MUx (Communication Literacy)



บทเรียนแนะนำจาก LinkedIn Learning

บทเรียนแนะนำจาก LinkedIn Learning สำหรับอาชีพวิศวกรอุตสาหการ


(นักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถติดต่อขอเข้าใช้งานระบบ LinkedIn Learning ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ Email: mahidolalumni@mahidol.ac.th)

รายการอ้างอิง

Oxford University Careers Service. (2020). Engineering, สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564. จาก. https://www.careers.ox.ac.uk/engineering#collapse1520496
University of Colorado Boulder Career Services. (2020). 5 things to include in your engineering resume, สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564. จาก. https://www.colorado.edu/career/5-things-include-your-engineering-resume
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2020) ภาควิชา/หลักสูตร, สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564. จาก.

https://www.eg.mahidol.ac.th/egmu/

อื่น ๆ 

อาชีพอื่นๆที่รองรับวุฒิการศึกษาของวิศวกรอุตสาหการ
– ผู้จัดการโรงงาน
– วิศวกรวางระบบ
– วิศวกรโรงงาน
– วิศวกรโครงการ
– วิศวกรในหน่วยงานของรัฐ
– วิศวกรในสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมบริการชั้นนำของประเทศ ฯลฯ