นักบิน (กัปตัน)


อาชีพนักบิน (Pilot) ทำหน้าที่ในการขับเครื่องบินหรือทำหน้าที่สนับสนุนการบินเช่นติดต่อวิทยุการบินและดูแลระบบอื่น ๆ ตามที่กัปตันเครื่องบินสั่งการ การทำงานของนักบินจะเริ่มจากการตรวจสอบรายงานสภาพอากาศประจำวัน การตรวจสอบสภาพการบินโดยรวม การประชุมข้อมูลการบินกับทีมงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การเดินตรวจสภาพเครื่องบินรอบนอก เพื่อหาจุดผิดสังเกตเช่น รอยน้ำมันรั่ว หรือสภาพแตกหักของตัวเครื่อง หลังจากนั้นจึงตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์และวิทยุสื่อสารของเครื่องบิน นักบินมีความรับผิดชอบในการนำเครื่องขึ้น (Take off) นำเครื่องลง (Landing) อย่างปลอดภัย ผ่านการติดต่อกับศูนย์ควบคุมการบิน การควบคุมเส้นทางการบินไม่ให้รบกวนสายการบินอื่น และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างการบิน โดยมีเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 160,000 บาท

การเตรียมตัวสู่การประกอบอาชีพ

การเตรียมตัวสู่การเป็นนักบิน(กัปตัน) จะต้องเตรียมตัวในด้านต่าง ๆ ดังนี้

– ในประเทศไทยใช้วุฒิปริญญาตรีทุกสาขาในการสอบเข้าเป็น นักเรียนที่ฝึกเรียนการบิน (Student Pilot) โดยสามารถเลือกใช้ทุนส่วนตัวหรือทุนสายการบินในการเรียนได้ โดยทุนสายการบินซึ่งได้มาจากการสอบชิงทุนจากสายการบินต่างๆ จะมีความพิเศษคือ ผู้ได้รับทุนจะมีงานรองรับจากสายการบินที่ให้ทุนตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน

– การสอบเข้าเรียนเริ่มจากการตรวจร่างกาย การสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ และการสอบความถนัดในการเป็นนักบินโดยนักจิตวิทยาการบิน ซึ่งเป็นการสอบที่เน้นทักษะการ Multi-tasking และ Problem solving ในเวลาเดียวกัน

– โดยปกติแล้วนักเรียนที่ฝึกเรียนการบินจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี 2 เดือน โดยมีระดับการศึกษา 2 ระดับ คือ 1) ระดับใบอนุญาตหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (PPL – Private Pilot License) ยังไม่สามารถใช้สมัครงานได้ 2) ระดับใบอนุญาตหลักสูตรนักบินพาณิชย์ (CPL – Commercial Pilot License) สามาถใช้สมัครงานสายการบินได้ โดยตำแหน่งแรกเริ่มคือนักบินผู้ช่วย Co-pilot โดยผู้ที่จะจบการศึกษาแบบ CPL จะต้องผ่านการเรียนพื้นฐานของการบิน ธรรมชาติของเครื่องบิน สภาพอากาศและการอ่านค่า การติดต่อสื่อสารโดยใช้ภาษาที่ถูกต้อง และการเก็บชั่วโมงบิน 220 ชั่วโมง

– การเป็นนักบิน (กัปตัน) อายุนักบินและชั่วโมงบินต้องผ่านเกณฑ์ (โดยเฉลี่ยอายุนักบิน 5 ปี ชั่วโมงการบิน 4000 – 5000 ชั่วโมงเป็นต้น) โดยต้องผ่านการสอบ
1.สอบข้อเขียนและสัมภาษณ์
2.สอบจำลองการบิน (Flight Simulator) เพื่อทดสอบการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
3.การสอบการบินบนเครื่องบินจริง โดยกรรมการคุมสอบจะให้ผู้สอบทำตัวเสมือนเป็นกัปตันจริง ๆ โดยมีหน้าที่ตัดสินใจทุกอย่างในการบิน เช่น การสั่งน้ำมัน การอธิบายและแจกจ่ายงานลูกเรือ หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นต้องแสดงทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเป็นกัปตันโดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาสอบประมาณ 3-6 เดือน

ทักษะและประสบการณ์

– ทักษะความเป็นผู้นำและการตัดสินใจ
– มีทักษะการสื่อสารที่ดีทั้งการพูดและการฟัง
– ทักษะในการวางแผนงาน
– ทักษะการบริหารเวลา
– ทักษะการทำงานเป็นทีม

การเรียนต่อ

หากต้องการความก้าวหน้าทางสายอาชีพผ่านการพัฒนาตนเองสู่เส้นทางผู้บริหาร โดยมีความสามารถในการบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจสายการบินในทุกระดับ สามารถวิเคราะห์ธุรกิจและวางแผลกลยุทธ์หรือเป็นที่ปรึกษาในการวางกลยุทธ์ได้ ท่านสามารถเลือกศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาวิชาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ของมหาวิทยาลัยมหิดล (https://graduate.mahidol.ac.th/thai/?p=curriculum&id=6601M03S)

แหล่งข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานภายนอก

คลิปวิดีโอที่แนะนำ


แนะนำอาชีพจากศิษย์เก่า: นักบิน(กัปตัน)
https://careers.mahidol.ac.th/ep10-captain/

รายการอ้างอิง

We Mahidol. (2021, Aug 10). กัปตัน [Video file].  Video posted to https://careers.mahidol.ac.th/ep10-captain

อื่น ๆ