เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน


เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (Safety Officer) หรือที่เรียกกันว่า จป. เป็นผู้ที่ดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานที่สถานประกอบกิจการหรือบริษัทต่าง ๆ ต้องจัดให้มีตามกฎหมาย โดยมีลักษณะการทำงานหลัก ๆ ดังนี้
– ทำหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมให้เกิดสภาพความปลอดภัยในการทำงาน โดยเน้นการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุเรื่องการบาดเจ็บของคน ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยจากโรค หรือการบาดเจ็บที่เกิดจากสถานที่ทำงาน
– วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน เช่น เครื่องมือ สถานที่ วิธีการทำงานที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่าง ๆ
– กำหนดวิธีการและให้คำแนะนำในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
– ตรวจวัดและประเมินค่ามาตรฐานของ แสง เสียง ความร้อน สารเคมี ของสถานประกอบการว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่
– ตรวจสอบการเตรียมความพร้อมบริเวณพื้นที่สถานประกอบการก่อนเริ่มงาน
– จัดหลักสูตรการสอบด้านความปลอดภัยเพื่อแนะนำ ฝึกสอน และอบรมพนักงานในสถานประกอบการ รวมถึงการแปลงข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นทฤษฎี ให้มาอยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้สะดวกและเข้าใจง่าย เช่น ผลิตสื่อเพื่อสื่อสารออกมาในรูปแบบวิดีโอ หรือโปสเตอร์ต่าง ๆ ที่จะต้องนำไปติดตามสถานที่ทำงาน เพื่อให้เกิดการตระหนกอยู่เสมอว่ากิจกรรมการทำงานที่ทำ มีอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นหน้างานได้ตลอดเวลา

โดยสามารถเติบโตในสายงานเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพได้ ดังนี้
– เป็นหัวหน้าในสายงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
– ทำงานในส่วนกลาง กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย
– ไปทำงานในบริษัทที่มีสาขาในต่างประเทศ
– เลื่อนระดับเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น

การเตรียมตัวสู่การประกอบอาชีพ

การเตรียมตัวสู่การเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จะต้องเตรียมตัวในด้านต่าง ๆ ดังนี้

– หากมีโอกาส สามารถเข้าร่วมโครงการที่ทางบริษัทต่าง ๆ เข้ามาเปิดรับนักศึกษาในช่วงชั้นปีสุดท้ายได้เข้าร่วม เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเพิ่มเติม

– เตรียมตัวในการสอบข้อเขียน ที่เกี่ยวกับการวัดทัศนคติ ความคิดของผู้สมัครงาน และการสอบสัมภาษณ์ให้พร้อม

– ฝึกคิดในเรื่องของเทคนิค และวิธีการออกแบบความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อเตรียมตัวในการประกอบอาชีพนี้ในอนาคต

– ฝึกทักษะการฟัง เพื่อเข้าใจปัญหา และทักษะการพูด เนื่องจากต้องร่วมงานกับบุคคลหลายรูปแบบ รวมถึงจะต้องใช้ทักษะนี้ในการเผยแพร่ความรู้อีกด้วย

– อาจมีบางสถานประกอบการหรือบางบริษัทที่จะกำหนดทักษะในด้านการจัดการความปลอดภัยเฉพาะทาง ดังนั้นจะต้องมีการเตรียมตัวโดยการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของทักษะเฉพาะทางดังกล่าว

ทักษะและประสบการณ์

– ทักษะการสื่อสาร (โดยเฉพาะทักษะการฟังและการพูด)
– ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
– ทักษะการคิดวิเคราะห์
– ทักษะการบริหารด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

การเรียนต่อ

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาโท สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.grad.mahidol.ac.th/th/prospective-students/view.php?id=2307M03G

แหล่งข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานภายนอก

คลิปวิดีโอที่แนะนำ


แนะนำอาชีพจากศิษย์เก่า: เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ
https://careers.mahidol.ac.th/ep6-safety-officer/

รายการอ้างอิง

We Mahidol. (2021, Aug 9). เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ [Video file].  Video posted to https://careers.mahidol.ac.th/ep6-safety-officer

อื่น ๆ